Put the right man/woman on the right job

หัวใจของการสรรหาและคัดเลือกคือ การเลือกคนให้ถูกกับงาน หรือที่เรียกกันติดปากว่าในภาษาอังกฤษว่า “Put the Right Man/Woman to the Right Job” ปัญหาคือจะเลือกอย่างไรจึงจะได้คนที่เหมาะกับงาน

ตามหลักแล้วเราจะต้องรู้ก่อนว่างานนั้นต้องทำอะไร เพื่อให้ได้ผลงานอย่างไร ซึ่งเรามีข้อมูลส่วนนี้ในรูปเอกสารเรียกว่า แบบบรรยายลักษณะงาน หรือ Job Description ที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า JD ที่พอเรียกแล้วบางทีก็นึกว่าเป็น เจดีย์ไปก็มี (ยิ่งตอนไปวิเคราะห์งานกับกรมศิลปากรละก็ บรรยากาศทำให้คิดว่าเป็นเจดีย์จริง ๆ) แบบบรรยายลักษณะงานเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นมาจากการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลของงานตำแหน่งนั้น ๆ

ในเอกสารบรรยายลักษณะงาน (หรือในรูปแบบใหม่ใช้คำว่า Role Profile ที่หมายถึงขอบเขตของงานตามตำแหน่ง) จะมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงคุณสมบัติของคนที่ดำรงตำแหน่ง ที่เดิมเรียกว่า Job Specification ข้อมูลส่วนนี้แหละที่ใช้สำหรับเลือกคนให้เหมาะสมกับตำแหน่ง

ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง (Job Specification) นี้จะกำหนดเกี่ยวกับ ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้ดำรงตำแหน่ง ข้อมูลส่วนนี้วิเคราะห์มาจากลักษณะของงานที่ทำ ว่าต้องการความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณสมบัติอื่น ๆ อย่างไร ในกลุ่มของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเราเรียกรวม ๆ ว่า KSAOs โดย K คือ Knowledge หรือความรู้ S คือ Skill หรือทักษะ A คือ Ability หรือความสามารถ และ O คือ Other Characteristics หรือคุณสมบัติอื่น ๆ บางคนอาจใช้คำว่า KSA แทนโดย K ยังเป็น Knowledge และ S ยังเป็น Skill และ A เป็น Attribute หรือ Attitude แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนัก

สมัยใหม่ เราได้ยินผู้คนพูดถึงคำว่า สมรรถนะ หรือ Competency เราอาจจะคิดว่า มีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยในการเลือกคนให้เหมาะกับงานมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง ๆ เราพบว่าสมรรถนะมักจะหมายถึง ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่น ๆ นั่นแหละ ส่วนที่เน้นเพราะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่คือ คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม

คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม ไม่เหมือนกับพฤติกรรมการทำงานทีเดียว ตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าหน้าที่ความรับผิดชอบในงาน คือการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย การทำการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เป็นพฤติกรรมในการทำงาน แต่คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมคือการอธิบายว่าเวลาทำการศึกษา วิเคราะห์วิจัยนั้นทำอย่างไร เช่น ทำอย่างขยันขันแข็ง ทำอย่างร่วมแรงร่วมใจ เป็นต้น

คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ แต่ใกล้เคียงกับคำว่า คุณลักษณะที่ในภาคราชการใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานกันมานานแล้ว แต่คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะกำหนดเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้

สมรรถนะ ที่ใช้ในภาคราชการพลเรือน เน้นที่คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมมากกว่า ส่วนของความรู้ทักษะ ความสามารถ เพราะสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่เรารู้ และเข้าใจกันดีอยู่แล้ว

ดังนั้นการเลือกคนให้เหมาะกับงาน นอกจากความรู้ ทักษะ ความสามารถ แล้วคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมยังช่วยให้เลือกคนให้เหมาะกับงานได้มากยิ่งขึ้น

ดร. รัชนีวรรณ วนิชย์ถนอม

Leave a comment